วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการประเมิน

การประเมินนำมาซึ่งการพัฒนาน้อยคนนักจะคิดถึงในประเด็นนี้
              การประเมิน หมายถึง กระบวนการที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด
                การประเมินถือเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการตัดสินใจเพื่อพัฒนางานต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะการประเมินจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญ ๆ อาทิ ทำให้ได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการดำเนินงานขององค์กร ต่อการปรับปรุงสื่อ / ชิ้นงาน  แผนงาน โครงการ ให้เหมาะสมก่อนนำไปปฎิบัติทำให้ผู้รับผิดชอบงาน / โครงการทราบจุดเด่น  จุดด้อยของงาน มีโอกาสที่จะปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเป็นการลดโอกาสความสูญเปล่าในการปฏิบัติงานทำให้ทราบว่าปฏิบัติการใด ๆ ที่ได้ลงทุนไปแล้วเกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ควรจะดำเนินการต่อไปหรือไม่   เป็นต้น
                จะกล่าวถึงการประเมินนั้นมีการพัฒนาตามช่วงระยะเวลาซึ่งสามารถแบ่งเป็น 4 ยุค  คือ  ยุคการวัดผล สู่ยุคการบรรยายและยุคการตัดสิน จนถึงยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของทางเลือกใหม่ จะเห็นได้ว่าการประเมินนั้นมีการขยายในด้าน
ขอบเขต  วิธีการ รูปแบบ  ตลอดจนการนำผลการประเมินมาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจในภารกิจต่าง ๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนเกิดมีแนวคิดเกี่ยวกับ "มาตรฐานของการประเมิน" ซึ่งมีกำหนดอยู่หลายสถาบัน แต่ที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นมาตรฐานการประเมินที่กำหนดโดยคณะกรรมการร่วมของมาตรฐานเพื่อการประเมินผลการศึกษา มาตรฐานการประเมินแบ่งได้เป็น มาตรฐาน ได้แก่  มาตรฐานด้านประโยชน์จากการประเมิน   มาตรฐานด้านความเป็นไปได้  มาตรฐานด้านความเหมาะสม และมาตรฐานด้านความถูกต้อง (Guba and Lincoln อ้างถึงในสุพิมพ์ ศรีพันธ์วรสกุล , 2551: 2-7)
ในยุคสังคมความรู้ซึ่งมีข้อมูลความรู้วิชาการต่าง ๆ เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วการประเมินจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่าง ๆ จนมีงานการประเมินเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันทั้งที่มีประโยชน์มากและไม่มีประโยชน์เลย ซึ่งถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการประเมิน
                ปัญหาของการประเมิน หมายถึง ข้อโต้แย้ง การเข้าใจผิด ในประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติหรือหาข้อสรุปไม่ได้ หรืออาจสรุปได้ว่า ปัญหาการประเมิน คือ  การประเมินที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กล่าวไว้ข้างต้น ในขณะที่กระบวนการประเมินยังคงต้องดำเนินการควบคู่กับภารกิจขององค์กรต่อไป ปัญหาเกี่ยวกับการประเมินใหม่ ๆ จึงยังมีปรากฏให้เห็น ในขณะที่ข้อขัดแย้งเดิม ๆ ยังหาข้อยุติไม่ได้ในบางประเด็น เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับแนวคิดการประเมิน รูปแบบของการประเมินและวิธีการประเมิน  ผู้ประเมิน การใช้ผลการประเมิน  การเมืองของการประเมิน ความเป็นสาขาวิชาและความเป็นวิชาชีพของการประเมินปัญหาของการประเมินทางการศึกษาส่วนหนึ่งมีปัญหาเช่นเดียวกับการประเมินโดยทั่วไปนอกจากนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ
                ปัญหาการประเมินมีผู้สรุปประเด็นไว้ต่าง ๆ กัน ในที่นี้ ขอเสนอประเด็นตามขั้นตอน
การประเมิน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในงานประเมิน ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักประเมินมือใหม่และผู้สนใจศึกษาต่อไป

ปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการบริหารและการจัดการประเมิน
                การวางแผนที่ดีเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการประเมินที่ปราศจากความลังเลในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ  การวางแผนการประเมินถือเป็นหัวใจหลักในการประเมิน หากการประเมินมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ถูกต้องและเหมาะสมกับสิ่งที่จะทำการประเมินจะทำให้ข้อมูลที่ได้จากผลการประเมินเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ตั้งไว้ในการวางแผนและการบริหารจัดการประเมิน มีประเด็นปัญหาย่อย ๆ อยู่หลายประเด็น  คือ ปัญหาที่เกิดจากการกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน ที่พบคือ มีการกำหนดวัตถุประสงค์กว้างเกินไป หรือ มีหลายวัตถุประสงค์ หรือ วัตถุประสงค์เขียนไว้ในรูปของนามธรรมไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ ไม่สามารถวัดและประเมินได้ ไม่ชัดเจน ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องรวมถึงปัญหาของคณะผู้ทำหน้าที่ประเมินซึ่งอาจมีอคติต่อการประเมินหรือรายงานผลการประเมินในทางที่ไม่สร้างสรรค์ซึ่งอาจก่อให้เกิดการต่อต้านและไม่ยอมรับผลการประเมินจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการที่ถูกประเมินข้อควรปรับปรุง คือ ก่อนทำหน้าที่ประเมินผู้ประเมินต้องมั่นใจว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องหากทำเช่นที่กล่าวไม่ได้จำเป็นจะต้องหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือมีประสบการณ์เข้ามาร่วมในทีมประเมิน จากปัญหาข้อนี้ จะส่งผลไปถึงปัญหาต่าง ๆ อีกได้แก่ ความไม่มั่นใจในการวางแผน การบริหารจัดการ อันอาจนำไปสู่การขาดการวางแผนที่ดี ใช้รูปแบบการประเมินไม่เหมาะสม เครื่องมือที่ใช้ไม่มีคุณภาพ ฯ  ซึ่งจะส่งผลให้ผลการประเมิน หรือรายงานการประเมินไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณค่าใด ๆเกี่ยวกับผู้ประเมิน นอกจากความรู้ ความสามารถแล้ว บทบาท บุคลิกภาพและจรรยาบรรณก็มีส่วนทำให้การประเมินเกิดปัญหาได้เช่นกัน ถ้ามองที่บทบาทของผู้ประเมินต้องดูว่ามีบทบาทในการตัดสินใจ หรือตัดสินคุณค่าเกี่ยวกับสิ่งที่มุ่งประเมิน เพราะในบทบาทที่ต่างกัน มีแนวโน้มให้ผลการประเมินแปรเปลี่ยนไปได้ หากผู้ประเมินไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณ  เช่น การบิดเบือนข้อมูล   มีวัตถุประสงค์แอบแฝง จนถึงการถูกครอบงำจากอำนาจทางการเมือง ถ้ามองที่บุคลิกภาพของผู้ประเมินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลการประเมินไม่ตรงตามความเป็นจริงได้ เช่น ความเข้มงวดเกินไปจนถูกต่อต้านจากแหล่งข้อมูลรวมทั้งทีมงาน หรือความยืดหยุ่นจนเกินเหตุ จนละเลยความถูกต้องของขั้นตอนการประเมินเป็นต้น

ปัญหาการประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมิน

                รูปแบบการประเมิน คือ กรอบความคิดหรือแบบแผนในการประเมินที่แสดงให้เห็นถึงรายการที่ควรประเมินหรือกระบวนการของการประเมินซึ่งมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับข้อตกลงเบื้องต้นซึ่งมีนักวิชาการทางด้านการประเมินได้เสนอกรอบความคิดให้นักประเมินได้เลือกใช้มีอยู่หลายรูปแบบ รูปแบบการประเมินโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3  กลุ่ม คือ รูปแบบการประเมินที่เน้นจุดมุ่งหมาย   รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินคุณค่า และรูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจรูปแบบการประเมินที่นักประเมินทั้งประเทศไทยและต่างประเทศได้คิดค้นขึ้นผ่านการทดลองใช้ ปรับปรุง พัฒนามายาวนาน จนเป็นที่เชื่อถือและยอมรับกันทั่วไป การประเมินโดยใช้รูปแบบการประเมินจัดได้ว่าเป็นการประเมินที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักประเมินโดยเฉพาะนักประเมินมือใหม่นอกจากนั้นช่วยให้การประเมินมีความน่าเชื่อถือในด้านความครอบคลุมองค์ประกอบ เนื้อหาที่ควรประเมิน แต่ในขณะเดียวกัน หากนักประเมินไม่มีความเข้าใจหรือขาดความรอบรู้เกี่ยวกับรูปแบบการประเมินต่าง ๆ ในรายละเอียด วิธีการ ขั้นตอนของแต่ละรูปแบบการประเมินแล้ว ก็อาจทำให้ใช้รูปแบบการประเมินไม่เหมาะสมกับเป้าหมายที่มุ่งประเมิน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และระยะเวลาที่ใช้ประเมิน เช่น การใช้รูปแบบการประเมิน CIPP ของ Stufflebeam เหมาะกับการประเมินในขณะที่งานกำลังดำเนินอยู่ จนถึงเสร็จสิ้นการดำเนินงาน และควรจะต้องมีการนำผลการประเมินมาปรับปรุงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่บกพร่องอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการเลือกใช้โมเดลการประเมินต้องดูความเหมาะสมของสิ่งที่จะประเมินเป็นหลักว่าประเมินอะไร โดยที่ไม่จำเป็นต้องเลือกโมเดลใดโมเดลหนึ่งมาประเมินแต่ควรที่จะทำการศึกษาโมเดลที่มีความเหมาะสมหลายๆโมเดลแล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะประเมินให้มากที่สุดเพื่อให้การประเมินในแต่ละครั้งสามารถตอบคำถามการประเมินได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน

ปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบการประเมิน

              การออกแบบการประเมิน หมายถึง การวางแผนเพื่อกำหนดรูปแบบ ขอบเขตและแนวทาง
การประเมินเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่ใช้ในการตอบปัญหาของการประเมินได้ถูกต้องผลที่ได้จากการประเมินสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้บริหาร
                การออกแบบการประเมินจะทำให้นักประเมินและผู้เกี่ยวข้องมองเห็นแนวทางการประเมินอย่างชัดเจนทั้งนี้เพราะการออกแบบการประเมินเป็นการวางแผนวิธีการประเมินโดยพิจารณาถึงการวางแผนดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือประเมินทำให้ทราบว่าต้องการข้อมูลอะไร โดยใช้เครื่องมือประเภทใดและมีขั้นตอนการพัฒนาอย่างไร วางแผนเก็บรวบรวมข้อมูลช่วยให้มองเห็นแนวทางว่าจะเก็บข้อมูลจากใคร จำนวนเท่าใด และเมื่อไรและวางแผนการวิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้ทราบว่าจะใช้การวิเคราะห์แบบใดและใช้สถิติอะไรบ้าง  การออกแบบการประเมินเป็นส่วนสำคัญของการประเมินที่จะทำให้ผู้ประเมินมองเห็นขั้นตอนของการประเมินชัดเจนขึ้นและประหยัดเวลา  การออกแบบการประเมินนักประเมินต้องทราบถึงปัญหาก่อนว่าปัญหานั้นต้องหาคำตอบได้ด้วยการรวบรวมข้อมูล/ วิเคราะห์ข้อมูล ปัญหานั้นควรมีความสำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้ ต้องทราบเป้าหมายสูงสุดของการประเมินว่า ประเมินเพื่ออะไร เพื่อตรวจสอบวัตถุประสงค์ หรือเพื่อตัดสินคุณค่า หรือเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประเมินสามารถออกแบบการประเมินได้อย่างถูกต้องจากนั้นต้องกำหนดกรอบแนวคิดในการประเมิน ซึ่งเป็นกรอบของการประเมินในด้านเนื้อหาสาระประกอบด้วยประเด็นหรือตัวแปรและการระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ในการสร้างกรอบแนวคิดการประเมิน ผู้ประเมินจะต้องมีกรอบพื้นฐานทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ศึกษาและมโนภาพในเรื่องนั้นแล้วนำมาประมวลเป็นกรอบในการกำหนดตัวแปรและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ในลักษณะของกรอบแนวคิดการประเมิน (พัชรา สินลอยมา , 2552 : 2) ปัญหาที่อาจพบ คือ การกำหนดกรอบความคิดการประเมินโดยไม่ศึกษาแนวคิด  ทฤษฎี หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องทำให้กรอบแนวคิดดังกล่าวมี องค์ประกอบไม่ชัดเจนและครบถ้วน ไม่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาหรือวัตถุประสงค์การประเมิน หรือบางรายหากไม่ได้กำหนดกรอบแนวคิดการประเมินจะทำให้การดำเนินงานประเมินไม่มีทิศทางหากจะกล่าวถึงการออกแบบประเมิน จะครอบคลุม 3  ประเด็นเช่นเดียวกับการวิจัย  คือ การออกแบบกลุ่มตัวอย่าง (Sampling Design) การออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูล(Measurement Design) และการออกแบบวิเคราะห์ข้อมูล (Statistical Design or Analysis  Design ) การออกแบบการประเมินทำให้รู้ว่า จะเก็บข้อมูลจากแหล่งใดเก็บอย่างไร ด้วยวิธีการ/เครื่องมือชนิดใด และใช้สถิติใดในการวิเคราะห์ แปลความหมายข้อมูล ในแต่ละประเด็นจะมีรายละเอียดย่อยอีกมากมาย หากผู้ประเมินไม่มีความรู้ ความเข้าใจอย่างชัดเจน จะส่งผลให้การวิจัยหรือประเมินครั้งนั้นมีข้อบกพร่องได้ ประเด็นปัญหาที่มักพบบ่อย ในการออกแบบการประเมินสรุปได้ดังนี้
                ปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบกลุ่มตัวอย่างหรือแหล่งข้อมูล จะเริ่มตั้งแต่การกำหนดขอบเขตประชากร หากกำหนดไม่ได้หรือกำหนดแล้วไม่ใช่ ก็ถือว่าพลาดตั้งแต่เริ่มต้น ปัญหาต่อมา คือ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่มักจะถือเอาความสะดวกจากการใช้ตารางสำเร็จรูป
แต่การจะสุ่มมาเท่าใด สุ่มอย่างไร มีข้อจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้  กาญจนา วัธนสุนทร
(2551: 146-147) ได้สรุปไว้ว่า การกำหนดจำนวนกลุ่มตัวอย่างให้มากกว่าจำนวนที่คำนวณได้จากที่ต้องการเป็นวิธีการที่ถูกต้องกว่าการกลับมาสุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมเมื่อได้ข้อมูลมาไม่ครบซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพราะกระบวนการที่ได้มาซึ่งข้อมูลจะขาดคุณภาพ และขาดอำนาจการสุ่ม ส่วนจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่จะใช้ในการทดลองเครื่องมือ เท่าไรจึงจะเหมาะสม กรณีนี้อาจพิจารณาค่าสถิติที่ใช้เป็นหลักว่าจำนวนคนเท่าไรจึงจะยอมรับได้เป็นการอ้างอิงจากการแจกแจงของค่าสถิติทดสอบหรือสถิติอ้างอิง นั่นคือประมาณ 30 คนขึ้นไป อย่างไรก็ตามกรณีที่ใช้ทฤษฎีการวัดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทฤษฎีการวัดดั้งเดิม  เช่น ทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ อาจต้องใช้มากกว่านั้น อย่างน้อย 100 คน เพื่อให้มั่นใจในความเที่ยงของค่าที่ได้
                ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ตามหลักการวิจัย แต่ในทางการประเมิน มักจะเรียกกลุ่มตัวอย่างว่าผู้ให้ข้อมูลหลัก จะคำนึงถึงหลักว่ากลุ่มตัวอย่างจะต้องเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลได้ถูกต้อง แม่นตรงหรือเป็นตัวแทนของประชากรมากที่สุด มากกว่าจะคำนึงถึงจำนวน หรือความน่าเชื่อถือจากวิธีการสุ่ม ซึ่งถือเป็นเรื่องรอง
                ปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องมือ และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ในส่วนของการออกแบบเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลตามหลักการการจะเลือกเครื่องมือประเภทใด มีข้อพิจารณาดังนี้ คือ ต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์การประเมิน เครื่องมือนั้นต้องให้ข้อมูลตรงตามวัตถุประสงค์ พิจารณาถึงลักษณะแหล่งข้อมูลหรือกลุ่มตัวอย่าง ในเรื่องจำนวน และคุณลักษณะอื่น ๆ เช่นอ่านเขียนได้หรือไม่สภาพการดำรงชีวิตโดยปกติเป็นอย่างไร พิจารณาถึงระยะเวลาที่จะใช้ว่ามีเวลาสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลเท่าใด รวมถึงพิจารณางบประมาณที่มี และสุดท้ายต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของเครื่องมือ เนื่องจากเครื่องมือแต่ละชนิดมีทั้งจุดเด่น และจุดด้อย ปัญหาที่พบได้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การไม่กำหนดกรอบแนวคิดในการประเมินให้ชัดเจน ไม่แสดงหลักฐานการนิยามตัวแปร ซึ่งจะทำให้การออกแบบเครื่องมือยุ่งยาก ไม่มีทิศทาง และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในที่สุด ปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับการออกแบบเครื่องมือ ได้แก่ การใช้เครื่องมือชนิดใดชนิดหนึ่งโดยไม่มีเครื่องมือชนิดอื่นเพื่อการสอบทานข้อมูลเลย เช่น นิยมใช้แบบสอบถามกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่เป็นเครื่องมือที่สร้างให้ดีได้ยาก นอกจากนี้เกี่ยวกับการใช้
ข้อคำถามในเครื่องมือ บางครั้งไม่เหมาะสมกับแหล่งข้อมูล ไม่ชัดเจน ใช้คำถามกว้างไป หรือมีหลายประเด็นในข้อคำถามเดียวกัน ในขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพเครื่องมือ พบว่าไม่ได้นำเสนอโครงสร้างเครื่องมือ หรือนิยามความหมายของตัวแปรให้กับผู้เชี่ยวชาญประกอบการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือทำให้เครื่องมืออาจจะไม่มีคุณสมบัติในด้านความตรงอย่างแท้จริงไม่อธิบายขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพของเครื่องมือที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประเมินมีความเข้าใจบางรายลอกต่อ ๆ กันมา หรือการไม่บรรยายคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญให้เห็นว่าเชี่ยวชาญอย่างไร หรือตัดสินใจไม่ได้ว่าผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ นั้นต้องอย่างไรในเรื่องนี้ กาญจนา วัธนสุนทร(2551: 145) กล่าวว่า ในบางครั้งมีการเข้าใจผิดคิดว่าต้องเป็นผู้มีชื่อเสียง ตำแหน่งทางวิชาการสูงซึ่งอาจไม่ใช่เสมอไป ในทางปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือควรประกอบด้วยสามกลุ่มคือ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเชี่ยวชาญด้านเนื้อหา  ด้านการวัดและประเมินผล และผู้ที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกับผู้ที่เป็นแหล่งข้อมูล ทั้งสามกลุ่มนี้จะให้ข้อมูลในด้านความตรง ความเป็นปรนัย และความเป็นไปได้ใน
การตอบ
                หลังจากผ่านขั้นตอนการออกแบบเครื่องมือขั้นตอนต่อไป คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญ
ขั้นตอนหนึ่งก่อนอื่นควรพิจารณาว่าข้อมูลที่ต้องการนั้นเก็บได้จริงหรือไม่เชื่อถือได้ไหม มีความตรงหรือไม่ ปัจจุบันมีเทคนิควิธีต่าง ๆ ทั้งวิธีการทางปริมาณและวิธีการทางคุณภาพที่จะช่วยให้การเก็บรวบรวมข้อมูลได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เช่น การใช้เทคนิค 360 องศา กระบวนการกลุ่ม หรือการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้มักพบว่า มีการใช้เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลไม่เหมาะสม
                ประเด็นสุดท้ายในเรื่องการออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล ที่สามารถพบได้ คือ การใช้
สถิติไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์ ใช้สถิติไม่เหมาะสมกับข้อมูลหรือกลุ่มตัวอย่าง เล็ก ๆ ปกติควรจะใช้สถิติไร้พารามิเตอร์ แต่ก็ไม่นิยมใช้กัน เกี่ยวกับการใช้มาตรประมาณค่าในแบบสอบถามบางครั้งใช้สถิติในการวิเคราะห์ไม่เหมาะสม เพราะหากกำหนดระดับความคิดเห็นเป็นมาตรจัดลำดับโดยไม่กำหนดค่าคะแนนไว้ก็คงจะไม่ถูกต้องนักหากจะใช้ค่าเฉลี่ยในการคำนวณ นอกจากนี้ปัญหาที่พบได้อีก คือ ไม่แสดงข้อมูล / สถิติที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะการกระจายของประชากรว่ากระจายปกติ หรือไม่ปกติ ทำไมถึงใช้ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน ฐานนิยม ซึ่งโดยหลักการแล้วการเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นต้องพิจารณาถึง วัตถุประสงค์การประเมิน ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายลักษณะประชากรหรือเพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะประชากร ต้องพิจารณาถึงระดับข้อมูลที่ใช้ว่าอยู่ในมาตรวัดใดพิจารณาถึงกลุ่มตัวอย่างว่ากลุ่มเดียวหรือหลายกลุ่ม ลักษณะประชากรเป็นอย่างไร สุดท้าย
คือ ต้องพิจารณาถึงข้อตกลงเบื้องต้นของสถิตินั้น ๆ ประกอบด้วย ดังนั้นหลักการเลือกใช้สถิติ ควรคำนึงถึง 4  ประการ  คือ  ระดับการวัดของข้อมูล  จุดมุ่งหมายของการประเมิน  จำนวนกลุ่มตัวอย่าง  ข้อตกลงเบื้องต้นของการใช้สถิติ   เป็นต้น
                การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลการนำเสนอข้อมูลในการประเมินโดยทั่วไปมี 3 รูปแบบ  คือ แบบข้อความ  แบบตาราง และแบบแผนภูมิ แต่ละวิธีมีการนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะข้อมูลเป็นสำคัญ การเลือกวิธีการนำเสนอที่เหมาะสมทำให้งานการประเมินน่าอ่านและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ผลการประเมินด้วยดังนั้นนักประเมินจึงควรทำการศึกษารูปแบบในการนำเสนอว่ามีลักษณะเช่นไร

ปัญหาเกี่ยวกับการเขียนรายงานการประเมิน

                รายงานการประเมินมีความสำคัญเพราะเป็นการสื่อสารให้ผู้อ่านได้ทราบแนวคิดในการทำ ลดความซ้ำซ้อนในการประเมิน เป็นสื่อกลางระหว่างนักประเมินและผู้สนใจอื่น ๆ ข้อค้นหาที่ได้นำไปสู่การตัดสินใจและพัฒนางาน
                การเขียนรายงานการประเมิน เป็นการเขียนเพื่อสรุปเรื่องราว / กระบวนการที่ได้ดำเนินการมา โดยจะเขียนหลังจากการดำเนินการประเมินเสร็จสิ้นแล้ว มีรูปแบบการเขียนอยู่ 2 ลักษณะ คือ การเขียนในลักษณะรายงานทางวิชาการตามรูปแบบการเขียนรายงานการวิจัยทั่วไป และการเขียนรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร ซึ่งจะสรุปรายละเอียดสำคัญ ในเรื่องวัตถุประสงค์ การดำเนินงาน / ผลการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะ ประมาณ 2-5 หน้า
                เทคนิคการเขียนรายงานการประเมินจะต้องเขียนให้ถูกต้องตามหลักวิชาและครอบคลุมส่วนประกอบทั้ง 3  ส่วน คือ ส่วนนำ  ส่วนเนื้อหา และส่วนอ้างอิง  มีหลักการเขียนที่สำคัญ คือ ความเป็นระบบในขั้นตอนการเขียน เนื้อหามีความถูกต้องตามหลักวิชา มีความครบถ้วนของประเด็นที่นำเสนอ แต่ละประเด็นมีความเป็นเอกภาพในตัวเอง ขณะเดียวกันแต่ละประเด็นต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้องกันมีความสม่ำเสมอในการใช้ถ้อยคำ อ่านดูแล้วมีความชัดเจน ตรงประเด็นที่ศึกษา และมีเหตุมีผล มีการศึกษาทฤษฏี หลักการที่น่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้ สมเหตุสมผล ปัญหาที่พบได้ในส่วนนำ ตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องที่ต้องมีความกะทัดรัด ชัดเจน ต้องบอกถึงวิธีการตัวแปรหรือเรื่องที่ประเมิน และบอกถึงประชากรที่ศึกษา ปัญหาความไม่สอดคล้องกันในแต่ละหัวข้อทั้งชื่อเรื่อง ปัญหา วัตถุประสงค์ สมมติฐาน การออกแบบ ส่วนเนื้อเรื่องพบว่า นำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่ครบถ้วน หรือนำเสนอเกินความจำเป็น ไม่ระบุถึงวิธีวิจัย ส่วนการนำเสนอข้อมูล ปัญหาที่พบ คือ การนำเสนอไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และไม่นำเสนอตามลำดับวัตถุประสงค์การประเมิน วิธีการนำเสนอข้อมูลไม่เหมาะสม การแปลผลจากตารางเมื่อเขียนตารางเสร็จแล้วตอนท้ายของตารางจะต้องมีการแปลผลหรือการบรรยายข้อมูลในตารางแต่มีผู้ประเมินบางท่านจะแปลผลหรือบรรยายข้อมูลในตารางก่อนแล้วจึงเสนอตารางและมีบางท่านแปลผลข้อมูลในตารางเสร็จแล้วจะสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองต่อท้ายไม่ว่าจะแปลผลแบบใดจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ตั้งไว้เป็นหลักเสมอในการแปลผลจะแปลผลเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏในตารางเท่านั้นกรณีข้อมูลมีมากจะนำเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏโดดเด่นเป็นที่น่าสังเกตมาบรรยายเท่านั้น  เป็นต้น
                ปัญหาเกี่ยวกับการประเมินที่นำเสนอในข้างต้นนั้นเป็นปัญหาที่พบได้จากงานประเมินหรืองานวิจัยเชิงประเมินในปัจจุบันเป็นเพียงมุมมองหนึ่งของผู้เขียนซึ่งอาจไม่ครบถ้วนทั้งหมด บางท่านอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อไปข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปหากผู้ประเมินเอาใจใส่ต่อภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองขณะเดียวกันก็อาจมีประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ให้เราได้เรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุดตราบเท่าที่ศาสตร์แห่งการประเมินยังมีการพัฒนา
ไปอย่างไม่หยุดยั้ง

บรรณานุกรม

กาญจนา วัธนสุนทร (2551) “สัมมนาการออกแบบเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
               ใน ประมวลสาระวิชาสัมมนาการประเมินการศึกษา หน่วยที่ 4 หน้า 119-157 นนทบุรี
                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาศึกษาศาสตร์
พัชรา   สินลอยมา (2552) "กรอบแนวคิดและการตั้งสมมติฐานการวิจัย" สาระสังเขปออนไลน์
               ค้นคืนวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 จาก www.ajarnpat.com/data/document_study02.doc
สมคิด  พรมจุ้ย . เทคนิคการประเมินโครงการ.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จตุพร ดีไซน์ , 2550 .
สุพิมพ์ ศรีพันธ์วรสกุล (2551) “สัมมนาแนวคิดและพัฒนาการของการประเมิน
               ในประมวลสาระวิชาสัมมนาการประเมินการศึกษา หน่วยที่ 1 หน้า 1-41 นนทบุรี
               มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาศึกษาศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น